20 กันยายน - วันเยาวชนแห่งชาติ, วันอนุรักษ์รักษาคูคลองแห่งชาติ

20 กันยายน - วันเยาวชนแห่งชาติ, วันอนุรักษ์รักษาคูคลองแห่งชาติ

วันเยาวชนแห่งชาติ ถูกกำหนดให้ตรงกับวันที่ 20 กันยายนของทุกปี ตามมาค้นหาความสำคัญและความหมายของวันเยาวชนแห่งชาติไปด้วยกัน 
ในปัจจุบันสังคมได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเยาวชน ซึ่งเป็นพลังลูกใหม่ ๆ ที่จะมาสร้างและพัฒนาประเทศชาติในอนาคต ดังนั้นองค์การสหประชาชาติจึงได้กำหนดให้ปีพุทธศักราช 2528 เป็นปีเยาวชนสากล และขอให้ประเทศสมาชิกร่วมเฉลิมฉลองปีเยาวชนสากลภายใต้คำขวัญ "Participation Development and Peace"

สำหรับประเทศไทย คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2528 กำหนดให้วันที่ 20 กันยายนของทุกปี เป็นวันเยาวชนแห่งชาต โดยถือว่าเป็นวันที่เป็นสิริมงคล อันเนื่องมาจากตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงค์จักรีถึงสองพระองค์ คือ

- พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396

- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468

นอกจากนี้พระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ยังขึ้นครองราชสมบัติขณะยังทรงพระเยาว์เหมือนกันอีกด้วย 


ความหมายของเยาวชน 

          พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายของคำว่า "เยาวชน" ไว้หมายถึง บุคคลที่มีอายุเกิน 14 ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึง 18 ปีบริบูรณ์ และไม่ใช่เป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้วด้วยการสมรส 

          ขณะที่องค์การสหประชาชาติได้ให้ความหมายสากลของคำว่า "เยาวชน" หมายถึง คนในวัยหนุ่มสาว คือ ผู้ที่มีอายุระหว่าง 15-25 ปี 

คำขวัญวันเยาวชนแห่งชาติ 

          เมื่อคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้วันที่ 20 กันยายนของทุกปี เป็นวันเยาวชนแห่งชาติ จึงได้มอบคำขวัญที่ถอดความเป็นภาษาไทยว่า "ร่วมแรงแข็งขัน ช่วยกันพัฒนา ใฝ่หาสันติ" ซึ่งมีความหมายละเอียดลึกซึ้งต่อเยาวชนทุกคน สามารถยึดถือและนำไปปฏิบัติดังนี้ 

          ร่วมแรงแข็งขัน (Participation) หมายถึง การยอมรับในศักยภาพของแต่ละบุคคล ที่จะสามารถวินิจฉัยและตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวกับตนเอง และตระหนักว่าตนมีโอกาส ได้ใช้โอกาสและพึงพอใจที่ได้ใช้โอกาสด้วยตนเองอย่างเกิดคุณค่า โดยไม่ตกเป็นเครื่องมือของผู้ใด การที่เยาวชนสามารถมีส่วนร่วมและมีบทบาทต่อชาติบ้านเมืองได้อย่างเต็มที่นั้น เป็นความสำเร็จของสังคมและประเทศชาติ 

          ช่วยกันพัฒนา (Development) การพัฒนานั้นมองได้ 2 มิติ มิติหนึ่งคือ การพัฒนาตนเองของแต่ละบุคคล และอีกมิติหนึ่ง คือ การพัฒนาสังคมและประเทศชาติ หากบุคคลพัฒนาตนเองได้ดีก็จะเป็นกำลังสำคัญ และอีกมิติหนึ่ง คือ การพัฒนาสังคมและประเทศชาติ และมีคุณค่าต่อการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ 

          ขณะเดียวกัน การพัฒนาสังคมและประเทศชาติก็จะเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาของบุคคลด้วยกระบวนการพัฒนา 2 ส่วนนี้ จึงมีความต่อเนื่องสัมพันธ์กัน และในสภาวะปัจจุบัน ความร่วมมือในระดับนานาชาติจะมีผลอย่างสำคัญยิ่งต่อความก้าวหน้าในการพัฒนาประเทศ 

         ใฝ่หาสันติ (Peace) สันติภาพเป็นหลักการพื้นฐานของชีวิต ความต้องการสันติภาพ เป็นความต้องการของสากลโลก ซึ่งทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกันเพื่อให้เกิดสันติภาพและดำรงคงไว้ คนหนุ่มสาวจึงต้องร่วมมือกันในเรื่องนี้ ผลักดันให้เกิดมาตรการที่จะสร้างความเชื่อมั่นในวิถีการพัฒนาด้วยสันติ และสร้างสำนึกสันติภาพ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปลูกฝังสั่งสอนเยาวชนให้รู้จักเคารพในศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ และสิทธิมนุษยชน มีความอดกลั้น ความเป็นประชาธิปไตย และเสรีภาพพื้นฐาน 

เครื่องหมายของวันเยาวชนแห่งชาติ 

          ในปี พ.ศ. 2517 สำนักเยาวชนแห่งชาติ ได้เสนอต่อคณะกรรมการบริหารและประสานงานเยาวชนแห่งชาติว่า เพื่อประสิทธิภาพและความมั่นคงในการดำเนินงานเยาวชนแห่งชาติ สมควรที่จะขอรับพระราชทาน "เครื่องหมายเยาวชนแห่งชาติ" เพื่อเป็นสัญลักษณ์ผูกพันพลังน้ำใจ และเป็นเครื่องยึดมั่นสักการบูชาร่วมกันของบรรดาเยาวชน 

          กลุ่มเยาวชน และหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับเยาวชน จึงได้เสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อนำความกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ซึ่งสำนักพระราชเลขาธิการได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้วไม่ทรงขัดข้อง จึงมีพระบรมราชานุญาตให้นำพระมหาพิชัยมงกุฎประดับบนส่วนยอดเครื่องหมายเยาวชน แห่งชาติ

          เครื่องหมายเยาวชนนี้ได้รับพระราชทาน และพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระมหาพิชัยมงกุฎ บนส่วนยอดของเครื่องหมาย เพื่อเป็นมิ่งขวัญ กำลังใจ และสิริมงคลแก่ชีวิตของเยาวชน 

          รูปลักษณะของเครื่องหมายนี้เป็นรูปโล่สีธงชาติ มีอักษรคำว่า "เยาวชน" สีขาวอยู่ในวงกลมพื้นสีเขียว เบื้องบนเป็นรูปพระมหาพิชัยมงกุฎ มีรัศมีอุณาโลม เบื้องล่างมีอักษรสีแดงว่า พลังพัฒนาชาติ รองรับด้วยรวงข้าว 9 รวง แยกอยู่ทางด้านขวา 5 รวง ด้านซ้าย 4 รวง ซึ่งสัญลักษณ์ต่าง ๆ เหล่านี้อธิบายได้ดังนี้ คือ

1. พระมหาพิชัยมงกุฎ เป็นเครื่องหมายแทนองค์พระมหากษัตริย์ องค์ประมุขสูงสุดของประเทศ ซึ่งเป็นที่เคารพ สักการะ และเป็นจุดรวมน้ำใจของคนทั้งประเทศ

2. รัศมีที่พระมหาพิชัยมงกุฎ หมายถึง พระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งหมายความว่า เยาวชนไทยนั้นอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือได้รับพระบารมีปกเกล้าฯ

3. อุณาโลม หมายถึง หว่างพระขนงของพระพุทธเจ้า ใช้เป็นเครื่องหมายแทนศาสนา

4. อักษรเยาวชนสีขาวในพื้นวงกลมสีเขียวรูปโล่สีธงชาติ หมายถึง พลังอันบริสุทธิ์แห่งความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของเยาวชนไทย อันจะนำไปสู่ความสำเร็จ การเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาการกสิกรรม อันเป็นพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

5. รวงข้าวทั้ง 9 รวง มีความหมายถึง เป้าหมายในการพัฒนาเยาวชนทั้ง 9 ประการ ตามนโยบายเยาวชนแห่งชาติ โดยที่รวงข้าวหมายถึง ความเติบโตงอกงาม ฉะนั้น คุณลักษณะ 9 ประการที่จะปลูกฝังให้เกิดขึ้นในตัวเยาวชน จึงเปรียบเสมือนคุณสมบัติที่จะงอกงามขึ้นตามตัวเยาวชน

6. อักษรว่า พลัง พัฒนาชาติ เป็นคำขวัญ เพื่อเตือนใจเยาวชนให้ตระหนักว่า พวกเขานั้นมีพลังบริสุทธิ์อันหนักแน่น จริงจัง ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้มากในการช่วยพัฒนาประเทศชาติ 

เป้าหมายของวันเยาวชนแห่งชาติ 

          นับแต่ปี พ.ศ. 2528 เป็นต้นมา เยาวชนของชาติจะได้รับการส่งเสริมและพัฒนาให้สามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาตนเอง พัฒนาชุมชน และพัฒนาประเทศได้อย่างต่อเนื่อง ยิ่งกว่านั้นเยาวชนจำนวน 11 ล้านคนซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ ควรได้ตระหนักว่า เยาวชนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบในการพัฒนาชาติให้มีความมั่นคง และเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายหลัก 3 ข้อคือ 

          1. เพื่อให้เยาวชนช่วงอายุ 15-25 ปี ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาตนเอง พัฒนาชุมชน พัฒนาประเทศ 

          2. เพื่อให้ประชาชนทั่วไป ได้ตระหนักถึงความสำคัญต่อประเทศชาติทั้งในด้านคุณภาพคุณธรรม 

          3. เพื่อให้นโยบายส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง สัมฤทธิผล 

คุณสมบัติเด็กและเยาวชนที่พึงประสงค์ 

           เด็กและเยาวชนที่พึงประสงค์ควรมีคุณสมบัติ 6 ประการ

1. มีความผูกพันในครอบครัว ภาคภูมิใจในความเป็นไทย มีทักษะในอาชีพและการดำรงชีวิตที่รู้จักเคารพสิทธิของผู้อื่น

2. มีสุขภาพและพลานามัยแข็งแรงและรู้จักการป้องกันตนเองจากโรคและสิ่งเสพติด

3. มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ จริยธรรม คุณธรรม และมีพฤติกรรมด้านความรับผิดชอบตามวัย

4. มีเจตคติที่ดีต่อการทำงาน มีศักดิ์ศรีและความภูมิใจในการทำงานสุจริต

5. รู้จักคิดอย่างมีเหตุผลรอบด้าน และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

6. รู้จักช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสและมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาชุมชนและประเทศชาติ 

กิจกรรมในวันเยาวชนแห่งชาติ 

          ในวันเยาวชนแห่งชาติของทุกปี หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้น เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เยาวชนได้ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ของตนทั้งในด้านเศรษฐกิจ และวัฒนธรรม เช่น 

          การคัดเลือกเยาวชนผู้ทำคุณประโยชน์ในสาขาต่าง ๆ และมีคุณสมบัติครบถ้วน เพื่อมอบรางวัลเยาวชนดีเด่นแห่งชาติให้เป็นการประกาศเกียรติคุณ และให้กำลังใจแก่เยาวชนผู้ทำความดี 

          กิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การรักษาความสะอาดของที่อยู่อาศัยและชุมชน 

          การบำเพ็ญประโยชน์และสังคมสงเคราะห์ เป็นต้น 

          วันเยาวชนแห่งชาติ จึงนับว่ามีส่วนช่วยกระตุ้นให้เยาวชนได้ค้นพบบทบาทและความสำคัญของตนเองที่มีต่อชุมชนและสังคม อันจะเป็นแนวทางในการพัฒนาสังคม และประเทศชาติให้มีความเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น … มีคำกล่าวที่ว่า เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า เยาวชนก็เช่นกัน หากได้รับการปลูกฝังที่ดี และพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ที่มีค่านิยมที่ถูกต้องแล้ว ก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่สร้างคุณประโยชน์ต่อประเทศได้ในอนาคต

วันอนุรักษ์รักษาคูคลอง 20 กันยายน เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญในการรณรงค์รักษาแหล่งน้ำของประเทศ ถ้าอยากรู้ว่า วันอนุรักษ์รักษาคูคลอง มีความเป็นมาอย่างไร ลองไปดู ประวัติวันอนุรักษ์รักษาคูคลอง ที่นำมาฝากกัน
 
           วันอนุรักษ์รักษาคูคลอง ถือเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญที่ประชาชนควรรู้ และให้ความสำคัญด้วยการหันมาดูแลรักษาแม่น้ำลำคลอง และแหล่งน้ำอื่น ๆ ที่เปรียบเสมือนสายเลือดหลักของประเทศให้กลับมาใสสะอาด ปราศจากขยะและมลพิษ

           ส่วนความเป็นมาของ วันอนุรักษ์รักษาคูคลอง 20 กันยายน ตลอดจนกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์รักษาแหล่งน้ำภายในประเทศไทย มีอะไรบ้างนั้น ลองไปดู ประวัติวันอนุรักษ์รักษาคูคลอง พร้อม ๆ กันเลย

ความเป็นมาของวันอนุรักษ์รักษาคูคลองแห่งชาติ
 
           หากพูดถึงวันอนุรักษ์รักษาคูคลองแห่งชาติคงไม่มีใครคาดคิดว่า ที่มาที่ไปของวันอนุรักษ์รักษาคูคลองแห่งชาตินั้น มาจากคลองแสนแสบที่ปัจจุบันยังเป็นเส้นทางคมนาคมทางเรือที่สำคัญเส้นหนึ่งของชาวกรุงเทพฯ เหมือนในอดีตที่ผ่านมา

           เพียงแต่ภาพของคลองแสนแสบในปัจจุบันที่เป็นคลองน้ำครำสายใหญ่และสายยาวที่สุดของกรุงเทพฯ มองไปทางไหนก็เห็นแต่หญ้าคา ผักตบชวา ซองขนม หรือซากขยะต่าง ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับภาพคลองแสนแสบในอดีตช่างต่างกันลิบลับ เพราะในอดีตนั้น คลองแสนแสบยังคงเป็นน้ำใสแจ๋ว มีปลามาอาศัยอยู่มากมายแถมยังเป็นแหล่งน้ำที่ประชาชนโดยเฉพาะเด็กเล็ก ๆ ยังดำผุดดำว่ายกันอย่างสบายใจ ไม่ต้องคอยกังวลกับเชื้อแบคทีเรียทีอยู่ในน้ำครำแบบปัจจุบันอีกด้วย
 
           แม้ว่าในสมัยนั้น ประชาชนที่อาศัยอยู่ติดคลองแสนแสบ หรือพื้นที่อื่น ๆ จะพยายามหาทางพัฒนาคลองแสนแสบให้กลับมาเป็นดังเดิม แต่ก็ไม่สามารถทำได้โดยง่าย จนกระทั่งเมื่อปี 2537 ได้มี"กลุ่มบุคคลผู้รักน้ำ" เกิดขึ้น โดยทั้งหมดได้รวมตัวกันขึ้นในรูปของคณะกรรมการ และตั้งชื่อโครงการว่า "โครงการรวมใจภักดิ์ รักษ์คลองแสนแสบ" ประกอบด้วย

           - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ในขณะนั้น)

           - ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ในขณะนั้น)

           - ปลัดกระทรวงมหาดไทย (ในขณะนั้น)

           - ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ในขณะนั้น)

           - ปลัดกรุงเทพมหานคร (ในขณะนั้น)

           - กองทัพบก 

           - นายธรรมนูญ หวั่งหลี

           - นายเกียรติชัย พงษ์พาณิชย์

           - นายขรรค์ชัย บุนปาน

           - อธิบดีกรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

           - สถาบันการศึกษา อาทิ สถาบันราชภัฏจันทรเกษม สถาบันราชภัฏฉะเชิงเทรา หรือ ราชนครินทร์ ในปัจจุบัน สถาบันราชภัฏเพชรบุรี

           - โรงเรียนมัธยมและประถมศึกษา ในสังกัดกรมสามัญศึกษา และสังกัดกรุงเทพมหานคร

           - แกนนำประชาชนริมคลองแสนแสบ อาทิ นายวินัย สะมะอุน

           โดยวัตถุประสงค์สำคัญเพียงอย่างเดียวของคณะกรรมการชุดนี้ คือ การร่วมกันดูแลและพัฒนาคลองแสนแสบที่มีความสำคัญในอดีตให้มีสภาพดีขึ้น ด้วยการจัดกิจกรรมเพื่อหาทางฟื้นฟูลำคลองแสนแสบมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การรณรงค์ทำความสะอาดคลองแสนแสบตลอดสาย เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2537


และเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2537 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จประพาสทางเรือ จากท่าน้ำผ่านฟ้าลีลาศ ไปจนถึงประตูท่าไข่ จังหวัดฉะเชิงเทรา รวมระยะทาง 72 กิโลเมตร ใช้เวลา 5-6 ชั่วโมง ตามคำกราบบังคมทูลเชิญของชมรมรวมใจภักดิ์รักต้นไม้ แม่น้ำลำคลอง และสิ่งแวดล้อม และการเสด็จประพาสทางเรือครั้งนี้ ได้สร้างความปลื้มปีติแก่พสกนิกรอย่างหาที่สุดมิได้ และเป็นที่มาของความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่จะสืบสานปณิธาน และพระดำรัสของพระองค์ที่ว่า "คลองแสนแสบเป็นคลองสำคัญในประวัติศาสตร์ ที่สมควรได้รับการดูแลรักษาต่อไป"
 
           ซึ่งจากเหตุการณ์ในวันที่ 20 กันยายน 2537  นี่เอง ทำให้ผู้นำท้องถิ่นริมคลองแสนแสบได้ร่วมกันจัดประชุมสัมมนาขึ้น เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2538  เพื่อหาทางฟื้นฟูลำคลองแสนแสบ โดยนายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้เดินทางมาเป็นประธานในที่ประชุมดังกล่าวด้วย ซึ่งที่ประชุมมีมติกำหนดให้วันที่ 20 กันยายน ของทุกปีเป็น "วันอนุรักษ์และรักษาแม่น้ำ คูคลองแห่งชาติ"

           ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2538 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้วันที่ 20 กันยายนของทุกปีเป็น “วันอนุรักษ์และรักษาคูคลองแห่งชาติ” อีกทั้งยังกำหนดให้ปี 2544-2546 เป็นปีแห่งการอนุรักษ์และพัฒนาแม่น้ำ คู คลอง และมีการตั้งคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อเป็นองค์กรหลักในการอนุรักษ์และพัฒนาสภาพแวดล้อม แม่น้ำ คู คลอง

           หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติดังกล่าวออกมา หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องก็พยายามที่จะใช้วันอนุรักษ์และรักษาคูคลองแห่งชาติ สร้างแรงจูงใจให้ประชาชนหันกลับมาให้ความสำคัญและดูแลรักษาแม่น้ำลำคลองเหมือนเดิม

กิจกรรมวันอนุรักษ์และพัฒนาแม่น้ำ คู คลองแห่งชาติ
 
           ในวันที่ 20 กันยายนของทุกปี หน่วยงานราชการ เอกชน หรือรัฐวิสาหกิจ จะร่วมตัวจัดกิจกรรม เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนในพื้นที่ของตนตระหนักถึงความสำคัญของแม่น้ำลำคลอง  อาทิ 

          - การจัดนิทรรศการ

          - การประกวดวาดภาพ คู คลอง ของฉัน

          - การเสวนาการฟื้นฟู ดูแลรักษาทรัพยากรน้ำ

          - การช่วยกันทำความสะอาดแม่น้ำลำคลอง 

          และเพื่อเป็นการร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองของประเทศซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดหล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของคนไทยให้กลับมาสดใสอีกครั้ง เพื่อน ๆ สามารถทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่ไม่ทิ้งขยะลงแม่น้ำ รวมถึงการช่วยกันรณรงค์ให้ทุก ๆ คน หันมาสนใจและช่วยกันดูแลรักษาแม่น้ำให้ใสสะอาด สวยงาม และอยู่คู่กับคนไทยไปตราบนานเท่านาน

จำนวนผู้เข้าชม 

 

วันและเวลา