21 ตุลาคม - วันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติ, วันพยาบาลแห่งชาติ, วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ, วันรักต้นไม้แห่งชาติ

21 ตุลาคม - วันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติ, วันพยาบาลแห่งชาติ, วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ, วันรักต้นไม้แห่งชาติ
        
ประวัติการสังคมสงเคราะห์

          เบื้องต้นนั้น การสังคมสงเคราะห์ เป็นการแสดงถึงความมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการอยู่ร่วมกันของสังคมมนุษย์ ซึ่งการสังคมสงเคราะห์ในประเทศไทยนั้นมีมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือกันเองระหว่างประชาชนกับประชาชน หรือระหว่างกษัตริย์กับประชาชน เฉกเช่นในปัจจุบัน นอกจากนี้ในสมัยก่อนวัดได้มีบทบาทสำคัญในการสังคมสงเคราะห์เป็นอย่างมาก เนื่องจากวัดจะเป็นศูนย์กลางในการจัดงานรื่นเริงและงานเทศกาลต่าง ๆ อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางของการศึกษา การรักษาผู้เจ็บไข้ได้ป่วย รวมถึงเป็นที่พักพิงของผู้ยากไร้อีกด้วย

          ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 การสังคมสงเคราะห์ได้เปลี่ยนรูปแบบจากวัดเป็นองค์กร โดยในสมัยนั้นได้มีการปฏิรูปสังคมที่หลากหลาย มีหน่วยงานที่สร้างขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือประชาชนมากขึ้น เช่น การสาธารณสุข การบริหารงานของรัฐ การเลิกทาส รวมถึงได้เริ่มมีหน่วยงานจัดสวัสดิการให้กับประชาชน เช่น ในปี พ.ศ. 2429 รัฐบาลได้จัดตั้งโรงพยาบาลศิริราชขึ้น เพื่อรักษาผู้เจ็บไข้ได้ป่วย เป็นต้น

          ในปี พ.ศ. 2483 รัฐบาลในสมัยนั้นได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของสวัสดิการประชาชนมากขึ้น จึงได้จัดตั้งกรมประชาสงเคราะห์ เพื่อทำหน้าที่ในการช่วยเหลือและส่งเสริมให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นอกจากนี้กรมประชาสงเคราะห์ยังเป็นหน่วยงานที่นำเอาวิธีการสังคมสงเคราะห์ไปใช้กับประชาชนโดยตรง เช่น วิธีการสังคมสงเคราะห์เฉพาะราย การสังคมสงเคราะห์กลุ่มชน การจัดระเบียบชุมชน เป็นต้น

          ต่อมาในปี พ.ศ. 2503 การสังคมสงเคราะห์ในประเทศไทยก็ได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ได้มีการทำกิจกรรมเกี่ยวกับการสังคมสงเคราะห์ที่หลากหลายมากขึ้น โดยได้มีการประชุมการสังคมสงเคราะห์แห่งชาติขึ้นเป็นครั้งแรก มีการจัดตั้งองค์กรและหน่วยงานทางสังคมสงเคราะห์ทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชน จำนวนกว่า 300 องค์กร ต่อมาได้มีการก่อตั้งสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ขึ้น ซึ่งสภาดังกล่าวถือว่าเป็นองค์กรกลางที่ทำหน้าที่ประสานงานและส่งเสริมงานสังคมสงเคราะห์โดยเฉพาะ 

         นอกจากนี้ ยังได้มีองค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ จัดตั้งขึ้นเพื่อให้บริการสังคมสงเคราะห์เป็นอันดับแรก เช่น พีระยานุเคราะห์มูลนิธิ มูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการฯ ฯลฯ และหน่วยงานที่ให้บริการสังคมสงเคราะห์เป็นอันดับรอง เช่น สถานสงเคราะห์แม่และเด็กกรุงเทพฯ สถานตรวจโรคปอดยศเส (ชื่อเดิม) งานสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ฝ่ายจิตในโรงพยาบาลจิตเวช รวมทั้งโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศก็ได้จัดตั้งแผนกสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ขึ้น เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย เป็นต้น

วันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติ
เมื่อ พ.ศ. 2528 คณะรัฐมนตรีในสมัยนั้นได้กำหนดให้วันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติ เนื่องจากวันที่ 21 ตุลาคม เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) เพื่อเป็นการรำลึกถึงที่พระองค์ได้ทรงอุทิศพระวรกายและสละเวลาให้แก่ประชาชนตลอดมา โดยมิได้ทรงเห็นแก่ความเหนื่อยยากส่วนพระองค์แต่อย่างใด ดังนั้นในวันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปี ทั้งทางภาครัฐบาลและภาคเอกชนจึงได้ร่วมกันจัดงานแสดงกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับการสังคมสงเคราะห์ขึ้น เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่สมเด็จย่าทรงมีต่อประชาชนโดยไม่เลือกเชื้อชาติ ศาสนา

หน่วยงานการสังคมสงเคราะห์

          ปัจจุบันได้มีหน่วยงานทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนเข้ามาดูแลในการสังคมสงเคราะห์แทนวัดตามที่กล่าวมาแล้ว เนื่องจากยุคสมัยได้เปลี่ยนไปรวมถึงปัจจัยในด้านต่าง ๆ เช่น ประชากรเพิ่มขึ้น ทำให้มีพื้นที่ในการช่วยเหลือไม่เพียงพอ ฯลฯ สำหรับหน่วยงานทางรัฐบาลนั้นมีหน่วยงานที่รับผิดชอบในด้านการช่วยเหลือประชาชนอยู่หลายหน่วยงานด้วยกัน คือ
          - กระทรวงมหาดไทย 
          - กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 
          - กระทรวงศึกษาธิการ 
          - กระทรวงสาธารณสุข
ด้านภาคเอกชนนั้น ได้มีการจัดตั้งสมาคมและมูลนิธิเพื่อการกุศล เป็นการจัดตั้งขึ้นโดยประชาชนทั่วไป ซึ่งในปัจจุบันได้มีสมาคมและมูลนิธิเพื่อการกุศลดังกล่าวจำนวนกว่า 10,000 องค์กรแล้ว อย่างไรก็ตาม สมาคมและมูลนิธิหลายองค์กรได้จัดตั้งขึ้นตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งสมาคมและมูลนิธิเหล่านี้ได้ทำงานที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง เช่น มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิอานันทมหิดล เป็นต้น


กิจกรรมในวันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติ

          กิจกรรมในวันสำคัญนี้ ทุก ๆ ปี อาจจะมีแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับงานและสถานที่ที่จัด แต่ที่มีเป็นประจำในทุก ๆ ปี ก็คือมีการประกาศเกียรติคุณแก่อาสาสมัครดีเด่นและองค์กรที่มีกิจกรรมทางสังคมดีเด่น เพื่อเป็นการขอบคุณและเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนและองค์กรทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่มวลมนุษย์และประเทศชาติต่อไป
วันสังคมสงเคราะห์นอกจากจะเป็นวันที่ทำให้เหล่าคนไทยเห็นถึงความสำคัญของการช่วยเหลือกันแล้ว ยังทำให้ประชาชนเห็นคุณค่าของชีวิตมนุษย์ด้วยกันเอง ว่าแต่ละชีวิตย่อมมีค่าอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ นอกจากนี้ยังทำให้ประชาชนได้ตระหนักถึงคุณงามความดีของกษัตริย์ที่มีพระกรุณาอย่างสูงต่อประชาชนคนไทยในการช่วยเหลือไม่ให้ตกทุกข์ได้ยากเรื่อยมา
วันพยาบาลแห่งชาติ 21 ตุลาคม ประวัติความเป็นมาของวันพยาบาลแห่งชาติ อีกหนึ่งวันสำคัญเพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จย่าที่ทรงอุทิศพระองค์เพื่อช่วยเหลือปวงชนชาวไทยผู้ยากไร้และด้อยโอกาส  
 
          การพยาบาล คือ การช่วยเหลือดูแลผู้ป่วย เพื่อช่วยฟื้นฟูให้บุคคลเหล่านั้นกลับมามีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดังเดิม ดังนั้นผู้ที่ประกอบวิชาชีพพยาบาลจึงต้องผ่านการฝึกฝนเพื่อใช้ความชำนาญดังกล่าวในการดูแลผู้ป่วย และเนื่องในวันที่ 21 ตุลาคม เป็นวันพยาบาลแห่งชาติ

          การที่ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการพยาบาลนั้น เนื่องจากเมื่อครั้งอดีต สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ สมเด็จย่า ทรงสนพระราชหฤทัยในคุณภาพชีวิตของพสกนิกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนผู้ยากไร้และด้อยโอกาสในถิ่นห่างไกลความเจริญ จึงทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้านการแพทย์ พยาบาล และการสาธารณสุข โดยทรงเจริญตามรอยพระยุคลบาทสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก "พระบิดาแห่งแพทย์แผนปัจจุบันและสาธารณสุข" ผู้ทรงอุทิศพระองค์และพระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อกิจการด้านนี้มากมาย 
 
          ดังนั้น เมื่อสิ้นสมเด็จพระบรมราชชนกแล้ว สมเด็จย่าจึงหันมาทุ่มเทให้แก่การแพทย์ พยาบาล และสาธารณสุขอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะโครงการต่าง ๆ ที่สมเด็จพระบรมราชชนกเคยสนับสนุนมาแต่เดิม สมเด็จย่าได้ทรงดำเนินกิจกรรมทุกอย่างให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ เช่น การพระราชทานทุนการศึกษา การสนับสนุนการก่อสร้างปรับปรุงโรงพยาบาลศิริราช
 
          รวมถึงการพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 500,000 บาท ให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายในกำหนด 25 ปี เพื่อตั้งเป็นทุนสำหรับส่งคนไปศึกษาเพิ่มเติมในต่างประเทศ โดยในเวลาต่อมาได้โอนทุนนี้ให้มหาวิทยาลัยแพทย์ คือ มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน


          นอกจากนี้ พระองค์ทรงรับเป็นผู้อุปถัมภ์สมาคม และมูลนิธิต่าง ๆ มากมาย เช่น

        - ทรงเป็นประธานมูลนิธิอานันทมหิดล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2502 โดยมีวัตถุประสงค์ในการคัดเลือกบุคคลส่งไปศึกษาวิชาพิเศษ ณ ต่างประเทศในสาขาวิชาต่าง ๆ เพื่อให้กลับมาปฏิบัติงานให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ

        - พระราชทานเงินรายปีสมทบทุนเพื่อเก็บดอกผลช่วยนักเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

        - ทรงสนับสนุนส่งเสริมวิชาชีพและการศึกษาพยาบาลตั้งแต่เริ่มการก่อตั้งสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยสมัยแรก โดยทรงร่วมเป็นกรรมการของสมาคมศิษย์เก่าพยาบาลศิริราช
 
          โดย พ.ศ. 2503  สมเด็จย่าพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ก่อสร้าง "อาคารศรีสังวาลย์" ขึ้นที่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อให้เป็นที่ตรวจรักษาและบำบัดคนพิการ จากนั้น พ.ศ. 2535 พระองค์พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 500,000 บาท เพื่อจัดตั้งมูลนิธิขาเทียม
 
          และเนื่องจากวันที่ 21 ตุลาคม เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จย่า ในฐานะที่พระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการพยาบาล และตลอดพระชนมชีพของพระองค์ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจในการพัฒนาสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตของประชาชนทั่วประเทศด้วยพระวิริยะ อุตสาหะ สมควรเป็นแบบอย่างแก่ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ให้ตระหนักในภารกิจของวิชาชีพแห่งตน ว่าเป็นงานบริการสุขภาพที่มีความสำคัญ และมีคุณค่าแก่สังคม ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขจึงเสนอขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้วันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันพยาบาลแห่งชาติ
 
          ต่อมาในปี พ.ศ. 2533 หลังจาก ครม. มีมติเห็นชอบในเรื่องดังกล่าว สภาการพยาบาล และสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ในนามของพยาบาลและผดุงครรภ์ทั่วประเทศ จึงได้ร่วมกันจัดงานวันพยาบาลแห่งชาติเป็นครั้งแรกในวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2533 โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การจัดงานเดินเทิดพระเกียรติ การให้บริการตรวจสุขภาพแก่ประชาชน การประชุมวิชาการ การประกาศเกียรติคุณและมอบรางวัลพยาบาลดีเด่น ซึ่งทำเช่นนี้ต่อเนื่องกันเป็นประจำทุกปีมาจนถึงปัจจุบัน

          นอกเหนือจากการจัดกิจกรรมดังกล่าวแล้ว ยังมีการกำหนดให้ "ดอกปีบ" เป็นสัญลักษณ์ของพยาบาลไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 เนื่องจาก "ดอกปีบ" เป็นดอกไม้สีขาวที่มีกลิ่นหอม และต้นปีบเป็นไม้ยืนต้น ที่เติบโตได้ในที่ดินแห้งแล้ง โดยส่วนราก ลำต้น และดอก สามารถใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคได้ ดังนั้น จึงเปรียบได้กับพยาบาลในชุดสีขาวผู้พร้อมที่จะประกอบคุณงามความดี ประดุจกลิ่นหอมของดอกปีบ และพร้อมที่จะสร้างประโยชน์เช่นเดียวกับการเป็นสมุนไพรของดอกปีบนั่นเอง
 
          เป็นอย่างไรกันบ้างกับประวัติความเป็นมาและความสำคัญของวันพยาบาลแห่งชาติที่เรานำมาฝากกันในครั้งนี้ หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจเรื่องวันสำคัญของไทย แม้วันพยาบาลแห่งชาติอาจไม่เป็นที่รู้จัก หรือไม่คุ้นหูกันมากนัก แต่ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญที่มีความหมายต่อปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ
วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ ตรงกับ 21 ตุลาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของสมเด็จย่า พระมารดาแห่งการทันตแพทย์แผนไทย

          ทุกวันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปี นอกจากเป็นวันพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า แล้ว ยังเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งในวงการทันตแพทย์ไทย นั่นคือวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ

จุดเริ่มต้นที่แท้จริงของวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2512 เมื่อสมเด็จย่า ทรงก่อตั้งหน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) ขึ้น เพื่อช่วยรักษาพยาบาลประชาชนในถิ่นทุรกันดารต่าง ๆ ทั่วประเทศ นอกจากนี้ พระองค์ท่านทรงเน้นในเรื่องการบริการทันตกรรมด้วย เนื่องจากทรงเห็นว่า คนในท้องถิ่นทุรกันดาร เมื่อป่วยเกี่ยวกับโรคฟัน จะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เลย ฉะนั้น ต้องมีทันตแพทย์อยู่ในส่วนของ พอ.สว. ด้วย

          ด้วยเหตุนี้ พอ.สว. จึงประกอบไปด้วย

          1. แพทย์

          2. ทันตแพทย์

          3. เภสัชกร

          4. พยาบาลเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

          5. สมาชิกสมทบ

          ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ครั้งแรกของ พอ.สว. เริ่มต้นเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2512 ที่บ้านดอยสามหมื่น กิ่งอำเภอเชียงดาว จ.เชียงใหม่ ขณะที่ปัจจุบัน ทาง พอ.สว. ก็มีการขยายเครือข่ายอาสาอย่างต่อเนื่อง จนมีแพทย์อาสารวม 55 จังหวัด และมีอาสาสมัคร พอ.สว. ประมาณ 50,000 คนแล้ว

          กระทั่งปี พ.ศ. 2532 ทางคณะรัฐมนตรีเห็นว่าสมเด็จย่า มีพระมหากรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานวิชาชีพทันตแพทยศาสตร์ และทันตบุคลากร จึงได้อนุมัติให้วันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันพระราชสมภพของสมเด็จย่า เป็นวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ นอกจากนี้ ทุกคนยังได้พร้อมใจถวายพระราชสมัญญาแก่พระองค์เป็น พระมารดาแห่งการทันตแพทย์ไทย อีกด้วย


กิจกรรมในวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ

          ตลอดหลายปีที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข จะร่วมกับสถานบริการพยาบาลทั้งภาครัฐ เอกชน รวมทั้งมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติขึ้น เพื่อร่วมถวายเป็นพระราชกุศลและเทิดพระเกียรติแด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี  ทั้งการให้ความรู้ด้านสุขภาพช่องปาก รณรงค์เรื่องทันตสุขภาพ และให้บริการทันตกรรมฟรี ซึ่งแต่ละปีก็จะมีกิจกรรมที่แตกต่างกันไป 

          ทั้งหมดนี้ ก็คือความเป็นมาของวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จย่า ที่ทรงห่วงใยในสุขภาพของประชาชน

วันรักต้นไม้แห่งชาติ

          วันรักต้นไม้แห่งชาติ หรือ "วันรักต้นไม้ประจำปีของชาติ" (National Annual Tree Care Day) ถือกำเนิดขึ้นจากแรงปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า ที่ทรงให้ความสำคัญการบำรุงรักษาต้นไม้และต้องการฟื้นฟูความสมดุลของ ธรรมชาติ โดยพระองค์ทรงปลูกและบำรุงรักษาต้นไม้ด้วยพระองค์เองมาตลอดพระชนม์ชีพ ด้วยเหตุนี้ คณะรัฐมนตรี จึงมีมติเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2533 กำหนดให้ วันที่ 21 ตุลาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็น "วันบำรุงรักษาต้นไม้ประจำปีของชาติ" 

          ต่อมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการระดมความเห็นจากบุคคลทั่วไป เพื่อกำหนดชื่อที่เหมาะสมสำหรับวันดังกล่าว ปรากฏว่าชื่อ "วันรักต้นไม้ประจำปีของชาติ" ได้รับการพิจารณา ทำให้ "วันบำรุงรักษาต้นไม้ประจำปีของชาติ" ถูกเปลี่ยนชื่อมาเป็น "วันรักต้นไม้ประจำปีของชาติ" หรือ "วันรักต้นไม้แห่งชาติ" ในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2533 เป็นต้นมา

          สำหรับวัตถุประสงค์หลักของการกำหนด วันรักต้นไม้แห่งชาติ ขึ้นมานั้นก็เพื่อบำรุงรักษาต้นไม้ที่ปลูกไว้ตามโครงการและสถานที่ต่าง ๆ ให้เติบโตแข็งแรง ดังที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงให้ความสำคัญกับการบำรุงรักษา ต้นไม้ที่ปลูกแล้วมากกว่าการปลูกต้นไม้ใหม่ ซึ่งในปัจจุบันเราจะเห็นตัวอย่างได้ชัดเจนว่ามีโครงการปลูกป่าต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การติดตามดูแลรักษาโครงการที่เกิดขึ้นไปแล้วนั้นมีน้อยมาก 

          ทั้งนี้ หากปล่อยให้ต้นกล้าที่เราตั้งใจหย่อนรากลงดินเจริญเติบโตเองตามยถากรรม ต้นกล้าน้อย ๆ ที่หวังว่าจะเติบโตช่วยให้ร่มเงา ช่วยลดภาวะโลกร้อน ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ สร้างพื้นที่สีเขียว ฯลฯ อาจต้องมีอันเป็นไปเสียก่อนที่จะได้ทำหน้าที่ของมัน หรืออาจไม่สัมฤทธิ์ผลเท่าที่ควรจะเป็น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น โครงการปลูกต้นไม้ที่ทำกันมา ก็จะเป็นการเสียทั้งงบประมาณ เสียทั้งเวลา แรงกายแรงใจที่ทุ่มเทลงไปก็สูญเปล่า เพียงเพราะเราไม่ได้ติดตามบำรุงรักษาต้นไม้อย่างต่อเนื่องนั่นเอง

          นอกจากเหตุผลหลักดังกล่าวแล้ว วันรักต้นไม้แห่งชาติ ยังเกิดขึ้นตามวัตถุประสงค์ต่อไปนี้

           1. เพื่อบำรุงรักษาต้นไม้ที่ปลูกไว้ตามโครงการและสถานที่ต่าง ๆ รวมทั้งการปลูกซ่อมต้นที่ตาย ให้สามารถเจริญเติบโตขึ้นปกคลุมพื้นที่โดยเร็ว 

           2. เพื่อชี้นำให้ประชาชนร่วมมือร่วมใจกันบำรุงรักษาต้นไม้ ที่ปลูกไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ โดยพร้อมเพรียง 

           3. เพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการบำรุงต้นไม้ที่ปลูกไว้ อันจะบรรลุวัตถุประสงค์ของการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียว 

           4. เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทิตาถวายเป็นราชสักการะ แด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดยเข้าร่วมกิจกรรมในวันสำคัญดังกล่าว ซึ่งกรมป่าไม้ได้จัดให้มีการบำรุงต้นไม้ทุกปี

          ส่วนการจัดกิจกรรมใน วันรักต้นไม้แห่งชาติ จะถูกจัดขึ้นทุกปี โดยกรมป่าไม้ จะกำหนดให้จังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ จัดกิจกรรม วันรักต้นไม้แห่งชาติ รณรงค์ให้ทุกคนมาร่วมกันบำรุงรักษาต้นไม้ เช่น การให้ปุ๋ย พรวนดิน ถากถางวัชพืชที่โคนต้นไม้ ฯลฯ

จำนวนผู้เข้าชม 

 

วันและเวลา